วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นำนาโนผสานเลี้ยงหม่อน "นวัตกรรม"เพิ่มค่าผ้าไหม

   ผล พวงจากความสำเร็จของโรงเรียนอนุบาลพุทธเมตตา แห่ง อ.เขมราฐ จ.อุบลฯ โดยการนำของ คำภา บุญยืน ผอ.โรงเรียน ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ "นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์" ในประเภทการเลี้ยงหม่อนด้วยนาโนซิงค์ออกไซด์ เพื่อการผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ ได้ถูกนำมาต่อยอดในการสร้างอาชีพให้ชุมชน ล่าสุด ได้เปิดเป็น หมู่บ้านผ้าไหมไทยนาโน ที่รวมกลุ่มแม่บ้านผลิตผลงาน อีกทั้งเปิดให้ผู้สนใจเข้าเรียนรู้ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ
   
    นาง คำภา บุญยืน ผอ.โรงเรียนอนุบาลพุทธเมตตา ต.เจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากที่โรงเรียนได้เข้าประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมัธยมศึกษา ระดับประเทศครั้งที่ 1 หัวข้อ “นวัตกรรมจากอานุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์” เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2552 ณ วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง กทม. จนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท "นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นโครงงานที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบเมื่อตัวหนอนไหมกินนาโนซิงค์ ออกไซด์ มาแล้วนั้น
    ทว่า โรงเรียนไม่ได้หยุดนิ่ง ได้มีการสานต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหนอนไหมเมื่อกินนาโนซิงค์ออกไซด์ และไม่กินนาโนฯ โดยศึกษาเปรียบเทียบอัตราการตายก่อนเข้าฝัก ตลอดทั้งความเหนียวของเส้นไหม ปรากฏว่าผลที่ได้รับออกมาเป็นเชิงบวก คือ หนอนที่กินนาโนออกไซด์ จะมีอัตราการตายน้อยกว่า และความเหนียวของเส้นไหมก็จะมากกว่า ขณะที่สีก็จะสดกว่า ด้วยเหตุนี้ ทางโรงเรียนจึงได้มีโครงการที่จะศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นผ้าไหมนาโน ที่มีนาโนซิงค์ออกไซด์ เป็นองค์ประกอบในเส้นใยไหม
    พร้อมกันนี้ ผอ.โรงเรียน ได้อธิบายถึงวิธีเลี้ยงหม่อนไหม ว่า จะต้องเตรียมกระด้งแล้วนำหนอนไหมที่ฝักออกจากไข่มาใส่ไว้ในกระด้ง กระด้งละประมาณ 300 ตัว การให้อาหารหนอนไหมก็จะต้องเริ่มให้กินผงนาโนซิงค์ออกไซด์ได้ในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากที่ให้อาหารหนอนไหมเสร็จแล้ว ให้นำผ้ามาปิดกระด้ง แล้วเก็บขึ้นชั้นวาง ซึ่งมีการให้อาหารหนอนไหมทันที เมื่อใบหม่อนหมด จะให้อาหารหนอนไหมจนกระทั่งหนอนไหมสุก (ตัวหนอนไหมจะเป็นสีเหลืองทั้งตัว) และเก็บมูลหนอนไหมทุกๆ วัน เมื่อหนอนไหมเข้าฝัก เก็บฝักไหมไปสาวเส้นไหม ที่ได้จากการสาวเรียกว่า ไหมดิบ จากนั้นก็นำไหมมาตากแดดให้แห้ง แล้วเก็บไว้เพื่อนำไปย้อมสีและนำไปทอเป็นผืนผ้าต่อไป
    "ผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมที่ทอมาจากการเลี้ยงไหมด้วยนาโนฯ จะมีเนื้อผ้าที่สวยงามกว่าการเลี้ยงไหมธรรมดามาก โดยเฉพาะหากเมื่อทอเป็นผ้าไหมเสร็จแล้ว ราคาจะสูงไปด้วย ตกอยู่ประมาณเมตรละ 1.5 พันบาท ซึ่งจะแพงกว่าผ้าไหมธรรมดาถึงเท่าตัว" ผอ.คำภา การันตีถึงรายได้หากทำเป็นอาชีพ
    พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนฯได้เปิดเป็น หมู่บ้านผ้าไหมไทยนาโน ให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงหม่อนเพื่อ ผลิตผ้าไหมนาโนฯ ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้านบ้านเจียดร่วม 20 คน ที่ได้เข้ามาเรียนรู้ในการผลิตทุกขั้นตอนและได้มีการผลิตผ้าไหมนาโนฯ ออกทดลองวางจำหน่ายที่โรงเรียน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และถึงขณะนี้กลุ่มได้ทำการเปิดสอนอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา
    ทั้ง นี้ ผอ.คำภา ยืนยันนั่นหมายถึงก้าวต่อไปของผลิตภัณฑ์ผ้าไหมนาโนฯ ฝีมือกลุ่มแม่บบ้านบ้านเจียด ก็จะถูกนำออกมาวางจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั่วไป โดยเป้าหมายด้านการตลาดหลักคือ หน่วยงานข้าราชการทั่วประเทศ หากสนใจที่จะเรียนรู้หรือสนใจในผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ คำภา บุญยืน ผอ.โรงเรียนพุทธเมตตา ต.เจียด อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี โทร.08-5766-8966

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น