วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทีมเด็กไทยสร้างชื่อได้รางวัลเกียรติยศในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์

   ทีมเด็กไทยสร้างชื่อได้รางวัลเกียรติยศในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของอินเทล "อินเทล ฟาวเดชั่น ยัง ไซเอนทิสต์ อวอร์ดส์" ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รางวัลนี้ จากผลงาน "ECO PLASTIC พลาสติกจากเกล็ดปลา" ที่ยังได้รับรางวัลใหญ่มาอีกสองรางวัล โดยชื่อของสมาชิกในทีมทุกคนจะได้นำไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยเพื่อ เป็นเกียรติต่อไป
    
   ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรืออินเทลไอเซฟ ซึ่งเป็นการแข่งขันผลงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรากฏว่า ปีนี้เด็กนักเรียนจากประเทศไทย สร้างชื่อเสียงด้วยการได้รางวัลเกียรติยศมาครอง ทำให้ธงไทยได้โบกสะบัดบนเวทีวิชาการระดับโลกอีกครั้ง
  
   สำหรับ การประกวดอินเทลไอเซฟในปีนี้ จัดขึ้นที่นครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 8 - 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในการประกาศผลเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ปรากฏว่า เด็กไทยสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลใหญ่ "อินเทล ฟาวเดชั่น ยัง ไซเอนทิสต์ อวอร์ดส์" ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งในงานมาครอง ด้วยผลงาน "ECO PLASTIC พลาสติกจากเกล็ดปลา" ของทีมนักเรียนจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฏร์ธานี ได้แก่ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ , นางสาวอารดา สังขนิตย์ และนางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลเกียรติยศที่ทางคณะผู้ตัดสินจะคัดเลือก เพียง 2 โครงงานที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และหาหนทางแก้ไขปัญหาในอนาคต
    
   ทั้ง นี้ โครงงานที่ได้รับรางวัลอีกโครงงานเป็นทีมนักเรียนจากรัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ได้รางวัลนี้จะได้เงินรางวัลสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.5 ล้านบาท โดยรางวัลดังกล่าวจะรองแค่เพียงรางวัลกอร์ดอน อี มัวร์ ที่ผู้ชนะเลิศจะได้เงินรางวัลสูงถึง 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ได้แก่ แมทธิว เฟดเดอร์สัน และเบลค มาร์กกราฟ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ การที่เด็กไทยได้รับรางวัล"อินเทล ฟาวเดชั่น ยัง ไซเอสทิสต์ อวอร์ดส์" ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับรางวัลนี้นับ ตั้งแต่มีการจัดประกวดมาเมื่อปี 2492
  
   สำหรับ โครงงาน "พลาสติกจากเกล็ดปลา" ยังได้รับรางวัลที่ 1 ประเภทแกรนด์ อวอร์ดส์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยจะได้รับเงินรางวัล 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และยังได้รับรางวัล "เบสต์ ออฟ แคตากอรี่ อวอร์ดส์" ในสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเงินรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนอกเหนือจากเงินรางวัลแล้ว ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 และที่2 ของแต่ละสาขา ชื่อของแต่ละคนจะถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบโดยโครงการ ลินคอล์น เนียร์ เอิร์ธ แอสทรอยด์ รีเสิร์ช (ลีเนียร์) เพื่อเป็นเกียรติต่อไป
  
   นอก จากนี้ ยังมีทีมเด็กไทยจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จ.เพชรบุรี ได้แก่ นายธนทรัพย์ ก้อนมณี , นายนรินธเดช เจริญสมบัติ และนางสาววรดา จันทร์มุข จากโครงการ "ผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลัก ต่อการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการเก็บเกี่ยว" ที่ได้รับรางวัลที่ 4 ประเภทแกรนด์ อวอร์ดส์ สาขาวิศวกรรม : วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมชีวภาพ โดยจะได้รับเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ
   
   หลัง การประกาศผลรางวัล น้องๆจากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศครั้งนี้ เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจอย่างมากที่ได้รับรางวัล เพราะไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลสูงถึงขนาดนี้ สิ่งที่คิดว่าทำให้ได้คะแนนจากกรรมการคิดว่าเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่ในท้อง ถิ่นให้เกิดคุณค่าขึ้นมากับคนทั่วโลกจากการทดลองในโรงเรียน และฝากถึงน้องๆที่สนใจโครงงานวิทยาศาสตร์ว่า ถ้าชื่นชอบขอให้ลงมือทำให้ถึงที่สุด ต้องหาทางต่อไปแม้จะเจอทางตันก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ได้จากการมาร่วมแข่งขันครั้งนี้คือความดีใจ ภูมิใจ และการได้เพื่อนจากต่างประเทศ รวมทั้งประสบการณ์ในการแข่งขัน
   
   ขณะ ที่ทีมจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่ได้จากการร่วมแข่งขันครั้งนี้ นอกเหนือจากการได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง ยังมีเรื่องภาษาอังกฤษ ที่เห็นได้ชัดว่าเด็กไทยยังอ่อนอยู่มากในเรื่องของภาษา แต่การได้มาร่วมโครงงานครั้งนี้ก็ช่วยสร้างความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมาก ขึ้น พร้อมกับฝากถึงรุ่นน้องว่า ถ้าต้องการทำอะไรก็ขอให้ทำเลย และรู้สึกดีใจกับน้องๆอีกทีมที่ได้รับรางวัลใหญ่ พร้อมกับขอบคุณอาจารย์ทุกคน และทุกหน่วยงานที่ส่งเสริมให้เด็กไทยได้ร่วมแข่งขันงานวิทยาศาสตร์บนเวที ระดับโลกนี้

   สำหรับ การประกวดอินเทลไอเซฟนั้น จะมีการจัดแข่งขันระดับประเทศ  จาก 59 ประเทศทั่วโลก เพื่อคัดเลือกตัวแทนในแต่ละประเภทไปแข่งขันระดับโลก ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนร่วมส่งโครงงานประกวดมากกว่า 1,600 คน ด้วยกัน โดยประเทศไทยส่งตัวแทนไปแข่งขันทุกปี สำหรับปีนี้ มีเด็กไทยเป็นตัวแทนไปประกวดรวมทั้งหมด 9 คนด้วยกัน ซึ่งมาจากการประกวดของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำหรับประเภททีม ได้แก่ นายธนทรัพย์ ก้อนมณี นางสาววรดา จันทร์มุข นายนรินธเดช เจริญสมบัติ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี ผลงาน "ผลของฟิลม์มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักต่อการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการ เก็บเกี่ยว" และ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวอารดา สังขนิตย์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ผลงาน "ECO PLASTIC พลาสติกจากเกล็ดปลา"
   
   ส่วน ประเภทบุคคล ได้แก่  นางสาวเนตรชนก ยุทธศักดิ์สุนทร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จังหวัดกรุงเทพฯ ผลงาน "การนำแก็สคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์", นายธรรมรงค์ ตั้งซ้าย โรงเรียนบูรณะรำลึก จังหวัดตรัง ผลงาน "ฤทธิ์พฤกษเคมีในการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารของสารสกัดจากราก สาคู" และ นายสุวัฒนชัย พรหมประสิทธิ์ โรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ผลงาน "Biology of snail ชีววิทยาของหอยทากบก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น