วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคหูชั้นกลางอักเสบ

   
       
โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่กลับเป็นโรคที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก และมักมองข้ามอันตราย เนื่องจากอาการของโรคหูชั้นกลางอักเสบ มักจะแฝงมาพร้อมกับโรคไข้หวัด และอาการจะเหมือนกับอาการข้างเคียงของไข้หวัด เช่น หูอื้อ เจ็บหู ฟังไม่ค่อยได้ยิน พร้อมกับพ่อแม่ที่เข้าใจว่าเป็นผลมาจากเด็กเป็นไข้ไม่สบายเท่านั้น และคิดว่าอาการหูอักเสบนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กหายป่วย
  
แต่ในความ เป็นจริงแล้ว เด็กที่ป่วยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบมีอันตรายมากกว่าที่คิด หากไม่ได้รับการตรวจหูและรักษาอย่างจริงจัง แม้อาการภายนอกจะหายไป แต่เชื้อโรคจะยังคงแฝงตัวมีอาการซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งอันตรายมาก เพราะนอกจากจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังและกลายเป็นโรคหู น้ำหนวก ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้และพัฒนาการที่สมบูรณ์ของเด็ก ๆ แล้ว ยังมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในอวัยวะอื่น ๆ อย่างโรคอีพีดี และโรคปอดบวมได้
  
เนื่อง จากหูอยู่ในบริเวณฐานสมอง และมีช่องทางเชื่อมถึงกันได้หมดตั้งแต่สมองจนถึงปอด ดังนั้นการที่เชื้อจะกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องง่าย เช่น จากหูไปสู่สมอง ทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง หรือจากหูไปสู่ปอด ทำให้เป็นโรคปอดบวม และปอดอักเสบได้ หรือจากหูไปสู่กระแสเลือด ทำให้เป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะยิ่งทำให้การรักษายากขึ้นไปอีก และเด็กก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้น้อยลง
  
สาเหตุของโรคหูชั้น กลางอักเสบ สามารถเกิดได้ ทั้งจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โดยที่เกิดจากเชื้อไวรัส ร่างกายสามารถรักษาให้หายเองได้ ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้หายช้า และสามารถเป็นซ้ำได้อีก หรือเป็นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และใช้เวลาในการรักษานาน โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบที่พบบ่อยคือ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส และเชื้อฮีโมฟิลุส ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในลำคอและโพรงจมูกของเด็กเล็ก เป็นเชื้อที่มีความรุนแรง แฝงตัวมากับเชื้อหวัดและปอดบวม
  
“โรคหูชั้นกลางอักเสบ” นี้คนทั่วไปมักจะรู้จักกันในนามของ “โรคหูน้ำหนวก” เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากการที่ท่อปรับความดันหูชั้นกลางยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับการสัมผัส คลุกคลีกับบุคคล และสถานที่ต่าง ๆ จึงเกิดภาวะติดเชื้อ เป็นหวัดได้บ่อย ซึ่งจากโรคหวัดที่เป็นลุกลาม ก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังท่อปรับความดันหูชั้นกลาง มีผลทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้
  
วิธีการสังเกตอาการ คือ หากเด็กเป็นไข้หวัด ไม่สบาย มีไข้สูง ปวดหูมาก ถ้าเป็นเด็กเล็ก จะร้องกวน เอามือกุมหูข้างที่ปวดไว้ และอาการปวดหูอาจเป็นมากขึ้นเวลากลางคืน ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์เพื่อตรวจหู เพราะอาจเป็นอาการของ โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน และหากไม่ได้รับการรักษาในขั้นนี้ แม้ว่าระยะต่อมาอาการปวดหูก็จะเริ่มทุเลา ไข้เริ่มลดลง แต่เชื้ออาจหลงเหลืออยู่ การอักเสบยังคงดำเนินต่อ และเด็กอาจจะเริ่มสูญเสียการได้ยิน คือมีอาการหูอื้อการได้ยินลดลงและพัฒนาไปสู่โรคหูชั้นกลางอักเสบชนิดมีของ เหลวขัง โดยในระยะนี้แก้วหูยังไม่ทะลุ หรือหากเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันที่มีแก้วหูทะลุ แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้มีหนองไหลเป็น ๆ หาย ๆ มีกลิ่นเหม็น การได้ยินลดลงเรื่อย ๆ จากนั้นอาจกลายเป็น โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจากการศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร “The American Journal of Otology” พบว่าในคนที่เป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา เช่น ใบหน้าเป็นอัมพาต เยื่อหุ้ม สมองอักเสบ ฝีในสมอง และติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะสามารถทำให้หายเป็นปกติได้ แต่ถ้าละเลยการรักษา เมื่อการได้ยินและประสาทหูเสื่อมลง ก็จะไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้
  
ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการป้องกัน ควรให้เด็กดูดนมแม่เพื่อเสริมภูมิต้านทานตามธรรมชาติ ดูแลเด็กให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ให้เป็นหวัดบ่อย  สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี และหากเด็กเป็นไข้ไม่สบายและมีอาการเจ็บหู หรือเวลาพูดแล้วเด็กไม่ค่อยได้ยิน เปิดทีวีเสียงดัง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหู และการเสริมภูมิต้านทานด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคไอพีดีพลัส ปอดบวม และหูชั้นกลางอัก เสบ เพื่อเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วย ซึ่งกุมารแพทย์จะแนะนำให้ฉีดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่พบบ่อย ก็จะช่วยให้เด็กแข็งแรงสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาได้ โดยเฉพาะเด็กที่ป่วยเป็นหวัดบ่อย ๆ และเด็กที่พ่อแม่นำไปฝากสถานเลี้ยงเด็ก เพราะเป็นแหล่งรวมพาหะของเชื้อโรค ที่ทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อได้บ่อย
  
พัฒนาการด้านการได้ ยิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ ของเด็ก  การดูแลและป้องกันลูกรักให้ห่างไกลจากโรคหูชั้นกลางอักเสบ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
  
ข้อมูลจาก ผศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ ภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น