วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปัสสาวะเล็ดราด..ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

   
       
   ความ ผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น ปวดปัสสาวะแล้วไปห้องน้ำไม่ทัน ไอ จาม หรือหัวเราะ แล้วมีปัสสาวะเล็ดราด เหล่านี้ถือว่าผิดปกติ เพราะส่งผลต่อการดำเนินชิวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามใจชอบได้ เพราะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ เกิดปัญหาในการดูแลสุขอนามัยส่วนตน เกิดผื่น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังต้องตื่นขึ้นมาถ่ายปัสสาวะตอนกลางคืนอยู่บ่อยครั้งจนขาดการพัก ผ่อน ส่งผลเสียต่อการทำงานในตอนกลางวัน ผู้สูงอายุหลายรายสะดุด หกล้ม จนกระดูกหักในขณะที่ตื่นมาถ่ายปัสสาวะจนเป็นอันตรายได้
         
   ใน สภาวะปกติ คนเราจะต้องกลั้นปัสสาวะได้ ไม่มีปัสสาวะเล็ดราดออกมาเมื่อยังไม่ถึงเวลาในการขับถ่ายปัสสาวะ ถึงแม้ว่าจะปวดปัสสาวะมากแค่ไหนก็ตาม หากยังไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ เช่น ห้องน้ำไม่ว่าง หรือกำลังเดินทาง ก็ต้องกลั้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะมีความสามารถในการขยายตัวออกเพื่อเก็บน้ำ ปัสสาวะมากขึ้น และกลไกหูรูดที่ควบคุมไม่ให้ปัสสาวะไหลออกมาจะปิดสนิท ในผู้หญิงจะแตกต่างจากในผู้ชาย เนื่องจากเพศชายมีต่อมลูกหมากอยู่ถัดจากกระเพาะปัสสาวะซึ่งช่วยในการกลั้น ปัสสาวะได้
         
   การควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและ หูรูดเป็นการทำงานที่มีความซับซ้อน ในความควบคุมกำกับของระบบประสาท อันประกอบด้วยสมอง ก้านสมอง ไขสันหลังและบรรดาเส้นประสาทต่าง ๆ ที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะ หากมีความผิดปกติในระดับใดระดับหนึ่งก็จะส่งผลให้มีปัสสาวะเล็ดราดควบคุมไม่ ได้ ซึ่งอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สามารถแบ่งเป็นอาการหลัก ๆ ได้ดังนี้
         
   ปวด ปัสสาวะรุนแรง แล้วมีปัสสาวะราดออกมา ไม่สามารถไปถ่ายปัสสาวะได้ทัน มักพบได้บ่อยในผู้หญิง ผู้สูงอายุ และในผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย อาการเด่นชัดคือ ปัสสาวะจะเล็ดราดออกมาก่อนที่จะไปถึงห้องน้ำ ยิ่งมองเห็นห้องน้ำ หรือกำลังจะเปิดประตูห้องน้ำ จะยิ่งปวดรุนแรงและราดออกมา ไม่สามารถควบคุมไว้ได้ สาเหตุเกิดจากกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ บีบตัวรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเป็นความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะเอง หรืออาจจะผิดปกติในการทำงานของระบบประสาทควบคุมก็ได้
         
   ไอ จาม มีปัสสาวะเล็ดราด ผู้ป่วยที่พบมักจะเป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะมีอาการนี้ได้เช่นกันหากได้รับการผ่าตัดรักษาต่อมลูกหมากมาก่อน สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบนี้เกิดจากการทำงานของหูรูดหย่อน เมื่อมีการเพิ่มแรงดันจากช่องท้องลงมากดกระเพาะปัสสาวะ หูรูดก็ไม่อาจทัดทานไว้ได้ ปล่อยให้ปัสสาวะเล็ดราดออกมา การเพิ่มแรงดันจากช่องท้องที่พบบ่อยได้แก่ การไอ จาม หัวเราะ หรือการออกกำลังกาย ส่วนสาเหตุชักนำได้แก่ การคลอดบุตร วัยหมดประจำเดือน การตัดมดลูกเป็นต้น
         
   ปัสสาวะไหลรินออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่มีอาการปวดปัสสาวะ บางครั้งอาจไหลตอนขยับตัวจากนอนเป็นนั่ง หรือลุกขึ้นยืน สาเหตุเกิดจากมีปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกมาได้หมด เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีจนส่งผลให้การทำงานของกระเพาะ ปัสสาวะเสื่อม กระเพาะปัสสาวะบีบตัวน้อย ถ่ายปัสสาวะออกมาแล้วยังมีตกค้างในกระเพาะปัสสาวะอีก ในผู้ชายอาจเกิดจากต่อมลูกหมากโต ถ่ายปัสสาวะไม่หมด มีปัสสาวะตกค้างเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็ได้ ส่วนการปัสสาวะรดที่นอน เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก ซึ่งเป็นตามวัย เมื่อเด็กมีพัฒนาการในการขับถ่ายปัสสาวะดีขึ้น ก็จะสามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้เอง นอกจากนั้นหากพบในวัยผู้ใหญ่มักจะมีความผิดปกติในระบบประสาทควบคุม
         
   การ ตรวจวินิจฉัย ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นี้ แพทย์อาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจปัสสาวะเป็นหลัก หากซักประวัติได้มากพอร่วมกับผู้ป่วยสามารถให้ข้อมูลการดื่มน้ำ และประมาณปัสสาวะ โดยการจดบันทึกมาให้แพทย์เป็นระยะเวลา  3-4 วัน จะทำให้ได้ข้อมูลที่นำไปสู่การวินิจฉัยได้มาก กล่าวคือ ให้ผู้ป่วยจดบันทึกปริมาณน้ำ เครื่องดื่มต่าง ๆ เวลาที่ดื่ม แยกเป็นเวลากลางวันตั้งแต่ตื่นนอน จนเข้านอน และเวลากลางคืน ตั้งแต่เข้านอนแล้วจนตื่นเช้า ร่วมกับจดปริมาณปัสสาวะที่ถ่ายออกมาด้วย ซึ่งเครื่องดื่มบางชนิดอาจมีส่วนกระตุ้นให้การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กาแฟ และการดื่มน้ำมากเกินไปก็อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ หรือการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะนั้น มีความจำเป็นน้อย แพทย์จะพิจารณาทำในบางรายที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น
         
   การ พิจารณาให้การรักษา เนื่องจากภาวะปัสสาวะเล็ดราด เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิต การจะพิจารณาให้การรักษา ในรูปแบบใด จึงขึ้นกับแต่ละบุคคลเป็นหลัก ว่าในแต่ละวันมีกิจวัตรอะไรบ้าง การมีปัสสาวะเล็ดราดสร้างปัญหามากน้อยประการใด ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการรักษา มีมากมายหลายประการ เช่น การปรับปรุงพฤติกรรมบางอย่าง การดื่มน้ำ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างที่กระตุ้นให้มีการกลั้นปัสสาวะไม่ อยู่ เป็นต้น
         
   การใช้ยารักษา ในปัจจุบันมียาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดอัตราการมีปัสสาวะเล็ดราดได้ดีพอสมควร ซึ่งยาดังกล่าว จะให้ผลดีกับผู้ป่วยที่มีปัญหาปวดปัสสาวะรุนแรงแล้วไม่สามารถไปห้องน้ำทัน เล็ดราดออกมาก่อน ส่วนกลุ่มที่มีไอ จาม ปัสสาวะเล็ดราด นอกจากจะสามารถใช้การฝึกกล้ามเนื้อเชิงกรานให้มีความแข็งแรงแล้ว การผ่าตัดก็เป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันการผ่าตัดทำได้ไม่ยาก มีแผลผ่าตัดเล็กมาก เพียงวันเดียวก็สามารถกลับบ้านได้ และผลจากการผ่าตัดได้ผลดี สามารถกลับมากลั้นปัสสาวะได้กว่าร้อยละ 90
         
   ดังนั้น ปัญหาการมีปัสสาวะเล็ดราด ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป จึงสมควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น