วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มะเร็งปอด

            
                           โรค มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยลำดับต้น ๆ ในประเทศไทย ทั้งในเพศชาย และในเพศหญิง มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการเกี่ยวกับมะเร็งปอดในประเทศไทยดังนี้
                       
            โรค มะเร็งปอดในเพศหญิงพบมากขึ้น จนอาจพบมาก กว่าในเพศชาย คนไข้ส่วนมากอยู่ในวัยกลางคน ไม่ได้สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ มะเร็งมักไม่มีอาการในระยะแรก ตรวจพบโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดพบเป็นจุดหรือก้อนในปอด มักจะพบที่ชายปอดมากกว่าที่ส่วนกลางของปอด เนื่องจากไม่ใกล้ชิดกับหลอดลมจึงมักไม่มีอาการ เช่น ไอ หรือไอออกเป็นเลือด ต่อเมื่อเป็นมากจึงมีอาการ โอกาสจะรักษาหายขาดก็คือเมื่อตรวจพบในระยะแรก ๆ ก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด
                      
            การ รักษามะเร็งในปอดซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ มะเร็งของปอดเอง และมะเร็งที่แพร่มาจากอวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น มาจากลำไส้ใหญ่ จาก เต้านม หรือมาจากกล่องเสียง มะเร็งของปอดเองก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ มะเร็งที่ประกอบด้วยเซลล์ขนาดเล็ก และมะเร็งที่ประกอบด้วยเซลล์ขนาดที่ใหญ่กว่า หลักของการรักษามีดังนี้คือ
                     
            มะเร็ง ประเภทเซลล์เล็ก มีความรุนแรงสูงแพร่กระจายรวดเร็ว เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ มักมีขนาดใหญ่ และอยู่ที่ขั้วปอด มีอาการ เช่น ไอเป็นเลือด มีหน้า คอ และลำตัวส่วนบนบวม เพราะมะเร็งไปกดเส้นเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดจากร่างกายส่วนบนกลับเข้าหัวใจ ห้องขวาบน  การรักษาที่ได้ผลดี คือ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงอาจช่วยได้ในบางกรณี เช่น ลดการบวมของต่อมน้ำเหลืองในรายที่ไปกดถูกอวัยวะสำคัญ การผ่าตัดมีบทบาทน้อย นอกจากพบโดยบังเอิญในระยะแรก ที่คนไข้พบว่ามีก้อนในปอดโดยไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเป็นมะเร็งชนิดใด
                   
            มะเร็งที่ไม่ ใช่เซลล์เล็ก พบบ่อยกว่ากลุ่มแรก ประมาณ 75% ของมะเร็งปอด (ไม่นับมะเร็งที่แพร่มากจากอวัยวะอื่น ๆ) มะเร็งกลุ่มนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก 3-4 กลุ่ม ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้างแต่ไม่มากนัก เดิมมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดจะเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักมีก้อนใหญ่  อยู่ใกล้หลอดลมจึงมีอาการไอ ไอเป็นเลือด หรือมีการอุดกั้นหลอดลมทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ แต่ในปัจจุบันมะเร็งที่พบมากที่สุดกลับเป็นชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสูบ บุหรี่ พบมากในเพศหญิงวัยกลางคน ไม่มีอาการในระยะแรก แต่ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดแล้วกระจายต่อไป ที่สมอง ในช่องท้อง หรือเยื่อหุ้มปอด ทำให้มีน้ำท่วมในช่องปอด มะเร็งกลุ่มนี้ตรวจพบโดยการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด แล้วตรวจเพิ่มเติมโดยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก และอาจตรวจด้วยเพ็ตสแกน เพื่อดูการจับน้ำตาลของก้อนและต่อมน้ำเหลือง มะเร็งจะจับน้ำตาลมากกว่าเนื้อเยื่อปกติทำให้เห็นเป็นจุดเรืองแสงสว่างกว่า เนื้อเยื่อปกติ แต่การอักเสบและติดเชื้อก็ทำให้มีการจับน้ำตาลมาก อาจให้ผลการตรวจด้วยเพ็ตสแกนที่เป็นบวกได้เหมือนกัน
                   
            เป็น ที่น่าเสียดายที่คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้เกี่ยวกับมะเร็งปอดที่ถูกต้อง การรักษาด้วยยาต้ม ยาตำรับต่าง ๆ ไม่มีการศึกษาและพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าสามารถทำให้มะเร็งหายได้ หรือสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งได้ การรักษาที่เป็นมาตรฐานของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กมี 3 ชนิดคือ
              
            1.    การผ่าตัด โดยตัดปอดออกเป็นกลีบ ปอดของคนเรามี 2 ข้าง ข้างขวามี 3 กลีบ และข้างซ้ายมี  2 กลีบ การตัดปอดเป็นกลีบนี้นอกจากจะตัดก้อนมะเร็งออกแล้วยังเป็นการตัดท่อน้ำ เหลืองในปอด และต่อมน้ำเหลืองตามหลอดลมในปอดกลีบนั้น และต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด และบริเวณใกล้เคียง วิธีนี้เป็นการรักษาที่ดีที่สุดในมะเร็งระยะที่ 1 ถึง 2  มะเร็งระยะที่ 3 อาจผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มะเร็งระยะที่ 4 ไม่แนะนำให้ผ่าตัด ยกเว้นบางกรณี เช่นมีก้อนมะเร็งในปอด และมีก้อนมะเร็งที่แพร่ไปที่สมอง 1-2 ก้อนที่สามารถตัดออกได้ไม่เป็นอันตรายต่อสมองก็แนะนำให้ผ่าตัดสมองและผ่าตัด ปอด ก็จะมีโอกาสหายขาดได้
              
            2.    การให้ยาเคมีบำบัด แนะนำให้ในระยะที่มีมะเร็งแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว คือตั้งแต่ระยะที่ 2 เป็นต้นไป โดยมักให้หลังการผ่าตัดในระยะที่ 2  สำหรับระยะที่ 3 อาจให้ก่อน หรือให้หลังการผ่าตัดแล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย ระยะที่  4 การให้ยาเคมีบำบัดแม้ว่าอาจไม่ทำให้โรคหาย แต่ก็ช่วยให้ควบคุมโรคให้ลุกลามช้าลงได้ อาจช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในบางราย
              
            3.    การฉายแสง ในระยะที่  1 ที่คนไข้ไม่ยินยอมผ่าตัด ก็อาจฉายแสงและบางรายอาจหายได้ โดยทั่วไปการฉายแสงเป็นการรักษาเฉพาะที่เมื่อมีมะเร็งก่อให้เกิดอาการ เช่น กดหลอดเลือดดำใหญ่ทำให้สมองบวม กดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก แพร่ไปกระดูกทำให้มีอาการปวดกระดูกทุกข์ทรมาน
              
            เนื่องจากมะเร็งปอดพบได้มากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นจึงมีข้อแนะนำดังนี้คือ
                       
            1.    การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดประจำปีมีประโยชน์ เพราะจะพบความผิดปกติซึ่งอาจเป็นมะเร็งปอดในระยะแรก
              
            2.    มะเร็งระยะแรกมักไม่มีอาการ เมื่อมีอาการมักเป็นเพราะมะเร็งแพร่กระจาย และอาจรักษาไม่หาย ดังนั้นการตัดสินใจรักษาจึงไม่ใช่เพราะมีอาการ ต้องไม่รอให้มีอาการจึงจะมาตรวจและรักษา
              
            3. การผ่าตัดปอดในปัจจุบันทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดแผลทรวงอก และการผ่าตัดผ่านกล้อง แพทย์จะแนะนำวิธีการที่เหมาะสม เพราะนอกจากความถนัดของแพทย์แล้ว ระยะของโรคก็ยังมีส่วนในการตัดสินเลือกวิธีผ่าตัด การผ่าตัดทั้งสองวิธีได้ผลดีเท่าเทียมกัน มีความปลอดภัยใกล้เคียงกัน
              
            4.    มะเร็งปอดแม้ว่ารุนแรง ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ มะเร็งในระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึง 70%
              
            5.    การผ่าตัดปอดแม้ว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ แต่ก็มีความปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อชีวิตไม่มาก แพทย์ต้องประเมินถึงความปลอดภัยก่อนผ่าตัดโดยพิจารณาและศึกษาจากความแข็งแรง ของร่างกาย อายุ โรคร่วมต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคถุงลมปอดโป่งพอง ระยะของมะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง
              
            6.    การผ่าตัดปอดไม่ทำให้ร่างกายทุพพลภาพ เพราะสมรรถภาพของปอดจะดีขึ้นหลังการผ่าตัด โดยทั่วไปความสามารถในการออกกำลังกายจะใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัด เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน และคนไข้สามารถพัฒนาสมรรถภาพของปอดหลังผ่าตัดได้โดยการออกกำลังกาย
                      
            7.    ไม่ควรหลงเชื่อว่ามีผู้รักษามะเร็งปอดโดยใช้ยาที่ผลิตขึ้นเอง หรือให้ผ่าตัดพร้อมกับกินยาที่ผู้รักษาขายให้คนป่วยไปพร้อมกัน การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีหลักการที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานทั่วโลก และผลการรักษาก็ดีขึ้นมากแล้ว จึงควรที่คนไข้ที่เป็นโรคนี้ได้รับการรักษาด้วยวิธีผสมผสาน ต่าง ๆ ที่ถูกต้องตามหลักการของการแพทย์ปัจจุบัน
              
            รอง ศาสตราจารย์ นายแพทย์กิตติชัย  เหลืองทวีบุญ  หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / ที่ปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอก โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น