วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การปลูกต้นหน้าวัว

การปลูกต้นหน้าวัว
   ดอกหน้าวัว
  
   หน้าวัวชุมพร สร้างรายได้ให้กับเจ้าของ แบบรายเดือน
   ในบรรดาผู้ที่เรียนจบมาทางด้านการเกษตร คุณศุภชัย หรือ คุณดำ สุระชิต เป็นผู้ที่ได้นำความรู้มาปฏิบัติมากที่สุดคนหนึ่ง
   คุณ ดำ อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 8 ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86190 คุณดำ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 49 ปัจจุบันเขาปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน หน้าวัว รวมทั้งจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อาทิ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช และอื่นๆ เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเกษตร สิ่งที่เกษตรกรหนุ่มทำอยู่ จึงมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
   สำหรับ หน้าวัว คุณดำ ปลูกเลี้ยงมาตั้งแต่ ปี 2544 ในพื้นที่ 3 ไร่ ด้วยกัน
   ก่อน หน้านี้ งานปลูกเลี้ยงหน้าวัว ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะมีการคิดคำนวณตัวเลขแล้ว ผลตอบแทนต่อไร่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อทำเข้าจริงๆ มีอุปสรรคไม่น้อย หลายคนเลิกราไป แต่สำหรับคุณดำแล้วยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้มีอุปสรรคก็แก้ไขให้ลุล่วงได้
   ถามถึงเรื่องการลงทุนก่อน ว่าตกไร่ละเท่าไร
   นัก เกษตรหนุ่มบอกว่า เมื่อก่อนลงทุนมากกว่าปัจจุบัน สาเหตุนั้น โครงสร้างโรงเรือนใช้เหล็กล้วนๆ ปัจจุบันมีการผสมผสานใช้เหล็กผสมผสานกับท่อ พีวีซี เรื่องของต้นพันธุ์นำเข้ามาจากฮอลแลนด์ สนนราคาต้นละ 120 บาท ต้นทุนโรงเรือนบวกกับต้นพันธุ์ เมื่อเริ่มแรกจึงตกไร่ละ 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) เมื่อผ่านปีที่ 5 ไปแล้ว ผู้ปลูกสามารถขยายพันธุ์เอง ต้นทุนช่วงหลังจึงตกไร่ละ 300,000 บาท
   โรงเรือนที่ปลูกหน้าวัว มุงด้วยซาแรน ส่วนแปลงนั้นพูนดินให้เป็นรูปหลังเต่า แล้วปูด้วยพลาสติค จากนั้นทำขอบแปลงให้สูงขึ้น วัสดุปลูกดีที่สุดคือ ถ่าน สำหรับหน้าวัวที่ต้นอายุไม่มาก เมื่อเวลาผ่านไป ต้นสูงขึ้น เจ้าของบอกว่า ให้ใช้เปลือกมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ต้นจะได้ยึดไม่ล้มง่าย อีกอย่างต้นทุนการผลิตจะถูกลง เนื่องจากถ่านแพงกว่าเปลือกหรือกาบมะพร้าวอย่างแน่นอน
   ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวที่ปลูก ราว 1 ฟุต ไร่หนึ่งปลูกได้ประมาณ 10,000 ต้น
   สายพันธุ์ที่ปลูกอยู่ มีดังนี้
   สีแดง ได้แก่ พันธุ์ทรอปิคอล
   สีเขียว ได้แก่ พันธุ์พิตาเช่
   สีขาว ได้แก่ พันธุ์แชมเปญ
   สีชมพู ได้แก่ พันธุ์เชียร์
   ต้น พันธุ์ของหน้าวัว ปัจจุบันมีการสั่งเข้ามาน้อย ในเมืองไทย ถือว่ามีอยู่มากพอสมควร ผู้ที่สนใจปลูกหน้าวัว สามารถเสาะหาได้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ หน่วยงานทางราชการก็สนับสนุนผู้สนใจ ทั้งเรื่องวิชาการและปัจจัยการผลิต
   คุณดำ บอกว่า การดูแลรักษาหน้าวัวไม่ง่ายนัก เพราะมีปัญหาเรื่องโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย หากพบต้องรีบกำจัด อาจจะกำจัดเป็นส่วนๆ ไป เช่น ระบาดในแปลงยาว 2 เมตร อาจจะยกไปทำลาย 3 เมตร บางครั้งอาจจะทั้งแปลง โรคอย่างอื่นก็มีสาเหตุที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า ที่ทำให้ต้นเน่า ที่ผ่านมาคุณดำสามารถดูแลได้ แต่เน้นเรื่องของการป้องกันมากกว่า เช่น ก่อนที่จะเข้าไปชมแปลง มีอ่างน้ำยา ผู้ที่จะเดินเข้าไปในแปลงต้องจุ่มรองเท้าลงไปในน้ำยาก่อน เป็นการป้องกันขั้นพื้นฐาน เหมือนอย่างฟาร์มเป็ด ฟาร์มไก่ เขาทำกัน
   เรื่องของการให้น้ำ หากเป็นหน้าแล้ง เจ้าของให้น้ำวันละ 3 ครั้ง หากเป็นหน้าฝน ที่ชุมพรฝนชุก สัปดาห์หนึ่งอาจจะไม่ต้องให้น้ำเลย
   เรื่อง ของปุ๋ย เจ้าของให้ปุ๋ยละลายช้า สูตร 17-17-17 จำนวน 100 กรัม ต่อ 3 ตารางเมตร ระยะเวลา 4 เดือน ใส่ให้ครั้งหนึ่ง ปีหนึ่งใส่ให้ 3 ครั้ง
   ตลาดและผลตอบแทน เป็นอย่างไรบ้าง
   คุณ ดำ บอกว่า เดิมผลผลิตดอกหน้าวัวตนเองทำส่งญี่ปุ่น ราคาดอกละ 18-20 บาท แต่ขั้นตอนการบรรจุหีบห่อทำได้ยาก จึงจำหน่ายเฉพาะในเมืองไทยระยะหลัง โดยดอกส่งที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต สนนราคาดอกละ 10 บาท ที่ชุมพรก็มีจำหน่ายบ้าง ราคาอาจจะย่อมเยาลง 5-6 บาท ต่อดอก ถือว่าราคาต่ำสุดแล้ว
   “ผลผลิตหน้าวัว 3 ไร่ จำนวน 30,000 ต้น หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือ 15,000-20,000 บาท ต่อเดือน ดอกหน้าวัวตอนนี้ไม่พอส่งตลาด การตัดดอก ตัดอาทิตย์ละครั้ง ครั้งละ 1,000 ดอก สิ่งที่ผู้ปลูกท้อกันคือโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เป็นแล้วจะลามทั้งแปลง ต้องดูอย่างละเอียด เป็นนิดเป็นหน่อยต้องเอาไปทำลาย เรื่องของพันธุ์เมื่อเข้าปีที่ 4 เริ่มตัดขยายพันธุ์ คล้ายวาสนา ต้นเป็นข้อปล้อง เป็นพืชที่น่าลงทุน ตลาดไม่พอ ยังจำหน่ายได้ราคาดี กุหลาบยังขายได้ไม่เท่าหน้าวัว”
   คุณดำ บอก และเล่าอีกว่า “ที่คนไม่ค่อยทำกันคือลงทุนสูงที่โรงเรือนและพันธุ์ รวมทั้งสู้โรคไม่ได้ คนมาดูกันบ่อยที่แปลงปลูกของผม ที่ผ่านมา คนมีเงินไปดูงาน ลงทุนเป็น 10 ล้าน เจ๊งก็มี มีคนมาดูงานที่ผมแล้วไปทำได้ผล เริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ 2,000-3,000 ต้น แล้วค่อยๆ ขยาย ที่ชุมพร สุราษฎร์ฯ มีหลายแปลง เลิกปลูกไปก็มาก ของผมถือว่ารายได้เป็นรายเดือน”
   คุณดำ บอกว่า งานปลูกหน้าวัวของตนเอง หากเปรียบเทียบกับงานทางด้านอื่น เช่น ทำทุเรียนนอกฤดูส่งต่างประเทศ ทุเรียนจะดูวูบวาบกว่า มีแรงจูงใจมากกว่า เพราะมีโอกาสรับทรัพย์ก้อนโต แต่โดยรวมแล้ว หน้าวัว ก็ยังน่าทำ เนื่องจากผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพียงแต่ต้องศึกษาว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ผลิตให้เหมาะสมก็จะอยู่ได้
   โรคใบไหม้ ของหน้าวัว
   สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris
   เชื้อ จะเข้าบริเวณขอบและใต้ใบ ทำให้เกิดจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ สีน้ำตาล และมีสีเหลืองที่ขอบล้อมรอบแผล ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน กระจายอยู่ทั่วไป อาการจะเด่นชัดด้านหลังใบ ขนาดของแผลจะแตกต่างกันออกไป บางครั้งจะเป็นเหลี่ยม และถูกจำกัดด้วยเส้นใบ หรือขยายออกไปตามแนวยาวของเส้นกลางใบ จนถึงขอบใบ ลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม นอกจากนี้ ยังพบอาการแผลยาวสีน้ำตาลจากปลายปลีลงมาและลุกลามเข้าไปในก้านดอกและจาน รองดอกได้อีกด้วย หากใบที่เป็นโรคไม่ถูกตัดทิ้งในระยะเริ่มต้น เชื้อแบคทีเรียจะกระจายไปทั้งต้นพืช โดยผ่านทางท่อน้ำ ท่ออาหาร อาการต่อมาที่พบคือ ใบแก่ จะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองด้านๆ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไปอุดท่อน้ำ ท่ออาหาร เมื่อผ่าตัดตามขวางจะเห็นท่อน้ำ ท่ออาหาร เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ทำให้ก้านใบ ก้านดอก หลุดร่วงได้ง่าย
   สภาพที่เหมาะต่อการระบาดนั้น มีเรื่องของความชื้น อุณหภูมิ ฝน หรือการให้น้ำถูกใบ อาจทำให้ใบเป็นแผลและเป็นทางให้แบคทีเรียเข้าทำลายได้ง่าย
   นักวิชาการเกษตรแนะนำว่า ควรหาทางป้องกันโรคนี้ ดีกว่าให้ระบาดแล้วรักษาแนวทางป้องกัน ทำได้โดย
   1. ใช้พันธุ์ที่ปลอดโรค
   2. ฆ่าเชื้อใบมีดสำหรับการตัดใบและตัดดอก โดยจุ่มในน้ำยาฆ่าเชื้อ
   3. ไม่ควรปลูกพืชสกุลใกล้เคียงกันไว้ใกล้ๆ เช่น อะโกลนีมา ดิฟเฟนบาเกีย ฟิโลเดนดรอน บอน เดหลี เป็นต้น
   4. ตัดแต่งใบให้ลมถ่ายเทได้สะดวก
   5. หากเชื้อระบาด ควรถอนไปทำลายทิ้ง
   6. ควรงดปุ๋ยไนโตรเจนชั่วคราว หากมีการระบาด
   7. หากมีการระบาดควรพ่นด้วยสารสเตรปโตมัยซิน และสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
   ผู้สนใจไม้ดอกสวยๆ อย่างหน้าวัว ถามไถ่นักเกษตรหนุ่มได้ตามที่อยู่ หรือโทร. (081) 787-7240
   พานิชย์ ยศปัญญา
   วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 455
   matichon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น