วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นักวิจัยไทยพบ “ปลาหลดงวงช้าง” ชนิดใหม่ของโลก


   ฮือ ฮา นักวิจัยไทยพบ “ปลาหลดงวงช้าง” ชนิดใหม่ของโลก เผยจมูก-จะงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง ครีบมีดวงลาย 4 จุด ลำตัวยาว 20 ซม. อาศัยตามแก่งหินแม่น้ำโขง ตั้งแต่ปากเซ ส.ป.ป.ลาว ถึงปากมูน จ.อุบลฯ อยู่ระหว่างการตีพิมพ์ผลงานต่อไป
   
    ในการประชุม วิชาการเนื่องในปีสากลแห่งป่าไม้และวันสากลแห่งความ หลากหลายทางชีวภาพ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น
    นายชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจปลาในแม่น้ำโขง ยังได้พบปลาหลดชนิดใหม่ของโลกในสกุล Macrognathus โดยตั้งชื่อว่า "ปลาหลดงวง ช้าง" ลักษณะของจมูก และจะงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง มีดวงเป็นลายจุดตามลำตัว 4 จุด เฉพาะบริเวณครีบหาง ลำตัวยาว 20 เซนติเมตร พบเฉพาะบริเวณแก่งหินของแม่น้ำโขงตั้งแต่ปากเซ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนถึงปากมูน จ.อุบลราชธานี พบมากในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์ผลงานต่อไป
    อย่าง ไรก็ตาม เมื่อปี 2553 เพิ่งพบปลาอีด ซึ่งเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกที่พบในเขตท้องนา และเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของบึงโขงหลง หนองกุดทิง จ.หนองคาย ปลาชนิดนี้ขนาดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร มีความโดดเด่นตรงครีบที่เหมือนกีตาร์แซฟเฟอร์ลิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidocephalichthys zeppelini นอกจากนี้ยังพบได้ในแม่น้ำของเวียดนาม และกัมพูชา ถือเป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำคุณภาพดีเท่านั้น
    “แม้ ว่าไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของปลาสูงในระดับโลก แต่ก็มีปัจจัยเรื่องภัยคุกคามต่อปลาโดยตรงคือการทำลายป่า ขณะที่โครงการพัฒนาเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลักที่ขาดความรอบคอบในการศึกษาผล กระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ แม้แต่การสร้างฝายแม้ว จากการศึกษาชัดเจนจากการสร้างฝายกั้นลำธาร ในดอยอินทนนท์เมื่อปี 2552 ที่ส่งผลให้ปลาค้างคาวอินทนนท์ไม่สามารถเดินทางข้ามฝายแม้วไปอีกฝั่งได้ จนต้องรื้อฝายออกไป" นายชวลิตกล่าว
    นายชวลิตกล่าวอีกว่า จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ปลาที่พบในประเทศไทยมีมากถึง 500 ชนิด เป็นจากปลาที่อาศัยในแหล่งต้นน้ำถึง 300 สายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาถ้ำ ถือว่าเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา สำรวจพบปลาถ้ำแล้ว 9 ชนิด ในถ้ำที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และพิษณุโลก ปัจจุบันสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เพิ่งสำรวจสถานภาพของปลาทั่วโลกในปี 2554 พบว่า 80 ชนิดอยู่ในบัญชีเรดลิสต์ หรือสถานภาพน่าเป็นห่วง และในจำนวนนี้ 34 จาก 55 ชนิด เป็นปลาที่อาศัยในระบบนิเวศป่าชายเลน ป่าเขาของไทย เช่น ปลาเสือตอ ปลาทรงเครื่อง ฉนาก กระเบนราหู เป็นต้น
    “สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปลาที่อาศัยในป่าพรุของไทยประมาณ 60 ชนิด พบว่าอย่างน้อย 10 ชนิด อยู่ในภาวะคุกคามอย่างมาก เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลากัดช้าง ปลากริมแรด ปลากะแมะ ปลาปักเป้าท้องตาข่าย เนื่องจากป่าพรุถูกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่และไฟไหม้ ส่วนปลาซิวข้างขวาน ที่มีสีสันสวยงาม และพบมากในป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ถูกจับออกไปขายปีละหลายแสนตัว ทั้งในไทย ญี่ปุ่น และยุโรป” นายชวลิตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น