วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'ยางพาราพันธุ์ใหม่'ให้ผลผลิตสูง

         
             
                                 จาก การที่ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ยางพารามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง พันธุ์ยางที่ให้เนื้อไม้สูง พันธุ์ยางที่ให้ทั้งน้ำยางและเนื้อไม้สูง มีความต้านทานโรคสำคัญ เช่น ราแป้ง ใบร่วงไฟทอปธอร่า และปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรประสบผลสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ยางพาราพันธุ์ใหม่เพิ่ม อีก 1 พันธุ์แล้ว คือ ยางพาราพันธุ์เฉลิมพระเกียรติ 984 (Chalerm Prakiat 984) ซึ่งได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นจากพันธุ์ยาง 2 เป็นพันธุ์ยางชั้น 1 ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2554 นี้แล้ว นับเป็นยางพาราที่มีศักยภาพให้ผลผลิตน้ำยางสูง คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีโอกาสเลือกใช้พันธุ์ยางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมสร้างอาชีพและสร้างรายได้อย่างมั่นคงด้วย
           
            นาย จิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ยางพาราพันธุ์เฉลิมพระเกียรติ 984 นี้ เดิมชื่อ RRI-CH-35-1396 เกิดจากการผสมระหว่างยางแม่พันธุ์ PB5/51(จากมาเลเซีย) กับพ่อพันธุ์ RRIC101 (จากศรีลังกา)ที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา โดยทีมนักวิจัยได้ทำการคัดเลือกแล้วนำไปปลูกเปรียบพันธุ์ยางขั้นต้น และเปรียบเทียบพันธุ์ยางขั้นปลาย ทั้งยังมีการประเมินระดับความต้านทานโรค เพื่อคัดเลือกต้นที่มีศักยภาพและตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์ด้วย ซึ่งพบว่ายางพาราพันธุ์นี้ มีการเจริญเติบโตระยะก่อนเปิดกรีดดี โดยมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นโตกว่าพันธุ์เปรียบ  คือ พันธุ์ RRIM600 ประมาณ 7-10 % และมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงที่เพิ่มแต่ละปีระหว่าง  6-8.2 สูงกว่าพันธุ์  RRIM600 ประมาณ 8-15% ทำให้เปิดกรีดได้เร็ว และมีจำนวนต้นยางที่สามารถเปิดกรีดได้มากตั้งแต่ปีแรกของการเปิดกรีด
           
            ที่ สำคัญยางพาราพันธุ์เฉลิมพระเกียรติ 984 ยังให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งสูงมาก โดยในพื้นที่ปลูกยางใหม่ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าเฉลี่ย 8 ปี 329.6 กิโลกรัม/ไร่/ปี มากกว่าพันธุ์ RRIM600 ที่ให้ผลผลิต 235.1 กิโลกรัม/ไร่/ปี คิดเป็น 53% ทั้งยังเป็นพันธุ์ยางที่มีเปลือกหนา จำนวนวงท่อน้ำยางมาก สามารถต้านทานโรคราแป้งและใบร่วงไฟทอปธอร่าในระดับปานกลาง นอกจากนั้นยังมีรูปทรงลำต้นลักษณะกลม การแตกกิ่งสมดุลในระดับสูง ทำให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ลาดชันและมีระดับน้ำใต้ดินสูง แต่ยางพันธุ์นี้มีข้อ จำกัด คือ ไม่เหมาะสำหรับการใช้ระบบกรีด ที่มีจำนวนวันกรีดมาก เช่น กรีด 3 วันเว้นวัน เพราะต้นยางจะเกิดอาการเปลือกแห้งได้ง่าย
           
            นาง สาวกรรณิการ์ ธีระวัฒนะสุข นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา กรมวิชาการเกษตร หนึ่งในทีมนักปรับปรุงพันธุ์ยางพาราพันธุ์เฉลิมพระเกียรติ 984 กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าเกษตรกรที่เลือกปลูกยางพันธุ์นี้ จะได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50 กิโลกรัม/ไร่/ปี และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 บาท/ไร่/ปี ปัจจุบันสถาบันวิจัยยางได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ศูนย์วิจัยยางหนองคาย ศูนย์วิจัยยางสงขลา ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ เร่งผลิตกิ่งตายางเพื่อส่งมอบให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้น และปลูกกันแพร่หลายมากขึ้น
           
            ยางพันธุ์เฉลิม พระเกียรติ 984 มีลักษณะการแตกกิ่งและทรงพุ่มที่สมดุลดีกว่าพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 เกษตรกรในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น พื้นที่ลาดชัน หรือพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง ก็สามารถปลูกได้ แต่เกษตรกรที่เลือกปลูกยางพันธุ์นี้ ไม่ควรใจร้อนเร่งเปิดกรีดยางต้นเล็ก หรือเปิดกรีดยางที่ไม่ได้ขนาด  และไม่ควรกรีดยางถี่เกินไป  เช่น กรีด 3 วันเว้นวัน จะทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้ง ทรุดโทรมเร็วขึ้น และมีอายุการใช้งานสั้นลง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น