วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"เห็ดตับเต่าขาว" กรุบอร่อย


Pic_177168 โดย ธรรมชาติของเห็ดตับเต่าที่คนส่วนใหญ่รู้จักและนิยมรับประทาน จะเป็นเห็ดตับเต่าชนิดที่ดอกเห็ดเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งเห็ดตับเต่าชนิดนี้ จะมีขึ้นตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นปีละครั้งในช่วงฤดูฝน คนหาของป่าจะเก็บไปวางขายในตลาดพืชผักพื้นบ้าน มีผู้ซื้อไปปรุงเป็นอาหารรับประทานอย่างแพร่ หลาย ส่วนใหญ่จะปรุงเป็นแกงพื้นบ้าน ใส่ยอดฟักทอง หน่อไม้สด ใส่ใบแมงลัก แต่งรสชาติตามต้องการ รับประทานอร่อยมาก

เห็ดตับเต่า ชนิดที่ดอกเห็ดเป็นสีน้ำตาลเกือบดำดังกล่าว มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ THAEOGYROPORUS PORENTOSUS (BERK.ET  BROOME) อยู่ในวงศ์ BOLETACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หมวกเห็ดเป็นทรงกระทะคว่ำ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12-30ซม. ดอกอ่อนมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่ เป็น สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เมื่อบานเต็มที่กลางหมวกจะเว้าเล็กน้อย และสีผิวเห็ดจะเข้มยิ่งขึ้น มีสีเหลืองปนด้วย มักจะปริแตกเป็นแท่งๆด้านล่างของหมวกเป็นสีเหลือง มีรูเล็กๆ กระจายทั่วและเชื่อมติดกันมองเห็นชัดเจนเป็นแผ่นหนา

ก้าน ของดอกเห็ดจะอวบใหญ่ สีน้ำตาลอมเหลือง ยาวประมาณ 4-8 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. โคนก้านโป่งเป็นกระเปาะ ผิวมันละเอียดคล้ายกำมะหยี่ สปอร์รูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ เมื่อพบขึ้นตามป่าธรรมชาติในบริเวณใดจะทิ้งสปอร์ไว้ในที่นั้น รอจนกระทั่งถึงฤดูฝน มีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา จะแทงดอกขึ้นมาให้คนหาของป่าเก็บไป รับประทานหรือเก็บไปขายเป็นวัฏจักรทุกๆปี

เห็ดตับเต่า ชนิดดอกเห็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มนี้ มีสรรพคุณทางยาคือ รับประทานแล้วช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง กระจายโลหิต และดับพิษร้อนภายใน มีชื่อเรียกอีกคือ เห็ดห้า (ภาคเหนือ) เพราะมักจะขึ้นบริเวณพุ่มต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า “ต้นห้า” นั่นเอง

ส่วน “เห็ดตับเต่าขาว” เพิ่งพบมีผู้นำเอา ดอกบรรจุถุงพลาสติกวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หลายแผงหลายเจ้า ราคาถุงละประมาณ 50 บาท มีป้ายชื่อเขียนติดไว้ชัดเจนว่า “เห็ดตับเต่าขาว” สอบถามผู้ขายถึงแหล่งที่มาไม่มีใครตอบได้ว่ามาจากที่ใด ลักษณะรูปทรงของดอกเหมือนกับเห็ดตับเต่าชนิดแรกทุกอย่าง เพียงแต่ชนิดหลังเป็นสีขาวและมีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น ผมทดลองซื้อไปรับประทานแล้วกรุบอร่อยจริงๆ จึงแนะนำในคอลัมน์ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น