วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

DSIชี้ซื้อป.บัณฑิตบางคนไม่ผิด

  เลขาฯ คุรุสภาเผยบัณฑิต มอส.รายงานตัวคุรุสภาวันแรกกว่า 50 คน กมว.ชี้ขาดวันที่ 9 พ.ค.นี้ว่า คนไหนควรได้ใบอนุญาต ชี้บัณฑิต มอส. 531คนต้องเสียสิทธิสอบครูผู้ช่วยปีนี้แน่นอน แนะให้รวมตัวไปฟ้องแพ่งกับมหา’ลัย  "องค์กร" ระบุข้อมูลมหาวิทยาลัยกับบัณฑิตที่มารายงานไม่ตรงกันสักราย “ดีเอสไอ” เล็งเสนอบอร์ด กคพ.รับเป็นคดีพิเศษ ส่วนผู้ซื้อใบ ป.บัณฑิตยังต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เหตุบางคนไม่เจตนาซื้อ แต่ทำตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่มหา'ลัย
 นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในวันแรกของการให้บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอีสาน (มอส.) ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไปแล้วจำนวน 531 รายมารายงานตัวและแจ้งข้อมูลที่คุรุสภา ซึ่งขณะนี้มีบัณฑิตเข้ามารายงานตัวแล้วกว่า 50 ราย โดยคุรุสภากำลังตรวจสอบหลักฐานต่างๆ  อยู่ อาทิ บัณฑิตคนนี้เรียนจริงหรือไม่ แล้วไปฝึกสอนที่ไหน อย่างไร เป็นต้น แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า บัณฑิตคนใดจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ บ้าง หลังจากการตรวจสอบหลักฐานพบว่า ข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัยที่แจ้งมากับบัณฑิตไม่ตรงกันสักราย ทั้งนี้ ตนจะรวบรวมหลักฐานที่บัณฑิตมารายงานตัวทั้ง 3 วัน ไปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เพื่อพิจารณาอีกที ในวันที่ 9 พ.ค.นี้
 สำหรับกรณีบัณฑิตหลักสูตร ป.บัณฑิต ที่เรียนจริง  ก็ต้องให้ทาง มอส. ส่งหนังสือรับรองสิทธินักศึกษามาใหม่อีกครั้ง เพื่อขอใบอนุญาตฯ ซึ่งตนก็คาดว่าหาก มอส.ส่งหนังสือรับรองสิทธิมาจริง ก็ไม่น่าจะทันกับการสอบคัดเลือกตำแหน่งครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แน่นอน ซึ่งตนก็แนะให้บัณฑิตกลุ่มดังกล่าวรวมตัวกันเพื่อดำเนินการทางแพ่งต่อไป
 ด้าน นางสาวปภาวิน คมคาย บัณฑิตหลักสูตร ป.บัณฑิต มอส.ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ไปแล้ว กล่าวว่า ตนศึกษาจบหลักสูตร ป.บัณฑิต เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา รู้เรื่องการซื้อขายปริญญา แต่เพิ่งมารู้ข่าวคุรุสภาให้มาลงชื่อผู้เสียหาย โดยตนยืนยันว่าได้เรียนจริง ฝึกสอนจริง มีใบประจำตัวนักศึกษา และเรียนในศูนย์ที่ตั้งด้วย
  “พอทราบข่าวก็รู้สึกหดหู่ เพราะอุตส่าห์เรียนมาแล้ว และคิดว่าเพื่อนนักศึกษาทุกคนต้องเสียใจและไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ดิฉันก็เคยทราบข่าวมาบ้างว่า มีการซื้อขาย แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เพราะตอนแรกคิดว่าคนที่มาซื้อมีความจำเป็น เพราะอาจไม่มีเวลามาเรียน จึงคิดว่ามีแค่ส่วนน้อย แต่พอมาเห็นก็เยอะกว่าทุกปีที่ผ่านมา” บัณฑิต มอส.กล่าว
  ด้านกรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายนพดล รัตนเสถียร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ  หัวหน้าทีมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก มอส. ที่พบว่ามีความผิดจริง และพบอีกว่า มอส. มีการชี้แนะชักชวน หรือชี้นำคนที่มาสมัครเรียนว่า ไม่ต้องเรียนก็จบได้  โดยเฉพาะในรายผู้มาขอเรียนที่เป็นครูและกำลังสอนอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยแจ้งว่าไม่ต้องเรียนแต่ให้มาติดต่อรับเอกสาร หลังจากชำระครบ 1 ปี จึงเป็นลักษณะการจ่ายเงินแล้วได้ใบ ป.บัณฑิตเลย
   ขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนจะสรุปฐานความผิด หากเป็นฐานความผิดแนบท้าย พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ก็จะเป็นคดีพิเศษทันที แต่หากไม่เข้าข่ายจะต้องขอมติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะมีหนังสือไปเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำอย่างเป็นทางการ และจะเร่งสรุปสอบสวน เพื่อรายงานต่อ ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยเร็ว
  "สำหรับนักศึกษาที่ใช้ ป.บัณฑิตปลอมจะมีความผิดหรือไม่ คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะข้อมูลจากการสอบสวนพบว่า บางรายต้องการไปสมัครเพื่อเรียนในหลักสูตร ป.บัณฑิตจริง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งให้ปฏิบัติอย่างไร เช่น บอกว่าไม่ต้องมาเรียนให้จ่ายเงินไว้แล้ว อีก 1 ปีมารับใบประกาศฯ ได้  โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้จบครูโดยตรง แต่เป็นครูสอนหนังสืออยู่แล้ว" นายธาริตกล่าว
 ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า หลังจาก ศธ.ให้โอกาส มอส.มาอุทธรณ์ภายใน 30 วันหลังรับรู้ข้อกล่าวหา แต่ล่าสุด มอส.ยืนยันว่าจะไม่อุทธรณ์ใดๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น